ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และการเมืองร่วมสมัยซึ่งสนใจประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา
สมศักดิ์มีผลงานการศึกษาค้นคว้าและการตีความประวัติศาสตร์จำนวนมาก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นการศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การสวรรคตของรัชกาลที่ 8, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, เหตุการณ์ 14 ตุลา, เหตุการณ์ 6 ตุลา และรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ผลงานส่วนใหญ่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตในรูปของบทความทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ฟ้าเดียวกัน, ประชาไท และในเฟซบุ๊กของเขาเอง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2501 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ส.ก.2514 หรือรุ่น 90) สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโมแนช ประเทศออสเตรเลีย
สมศักดิ์สนใจกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นประธานนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และเป็นหนึ่งในสาราณียกร ผู้จัดทำหนังสือรุ่นซึ่งแจกจ่ายในงานประจำปีของโรงเรียน "วันสมานมิตร" ประจำปี 2517 ชื่อว่า "ศึก" ต่อมาเขาสอบเข้าเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่วมเป็นหนึ่งในโฆษกบนเวทีปราศรัยระหว่างการชุมนุมขับไล่พระถนอม สุกิตติขจโรออกจากประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ห้วงเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา
ในวันที่ 6 ตุลาคมนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวสมศักดิ์ขณะหลบอยู่ภายในกุฏิสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมศักดิ์เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมากที่สุดคนหนึ่ง เขามักวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับราชวงศ์ไทยอย่างโจ่งแจ้งและตรงไปตรงมา เขาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่โปร่งใสมาโดยตลอด ทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเขามองว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และแสดงออกผ่านการเข้าร่วมเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องหาคดีดังกล่าวหลายครั้ง จึงทำให้สมศักดิ์ถูกพวกคลั่งเจ้าและฝ่ายนิยมกษัตริย์โจมตีว่าเป็นพวก "ล้มล้างสถาบัน" อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ก็วิพากษ์วิจารณ์ทั้งทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ในหลายโอกาส นอกจากนี้ สมศักดิ์ยังร่วมแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมต่าง ๆ โดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง เช่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน และนิวแมนดาลา (นวมณฑล) เป็นต้น
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สมศักดิ์เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีคนร้ายสองคนบุกเข้ามายิงปืน และขว้างอิฐใส่รถ และบ้านพักของตน ขณะที่เขาอยู่ภายในบ้าน และต่อหน้าเพื่อนบ้านหลายคนด้วย หลังจากมีการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สมศักดิ์เป็นบุคคลหนึ่ง ที่คณะรัฐประหาร ออกคำสั่งที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม และคำสั่งที่ 65/2557 ลงวันที่ 13 มิถุนายน เพื่อเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกหมายจับ เขาเงียบหายจากสังคมไปราวครึ่งปี จนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สมศักดิ์กลับมาเผยแพร่ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ นับแต่มีผู้บุกลอบยิงถึงบ้านพัก
แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 356/2558 ลงโทษไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ แม้เขาจะยื่นหนังสือขอลาราชการแล้ว แต่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ไม่อนุมัติ ทั้งยังมอบหมายให้ทำการสอน ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 และยังแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วนอีก แม้ต่อมาเขาจะยื่นหนังสือ ขอลาออกจากราชการแล้วก็ตาม แต่กลับยังคงได้รับการเพิกเฉย การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า สมศักดิ์จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อธิการบดีจึงอ้างเหตุนี้มาลงโทษดังกล่าว